4 แนวทางสร้างบ้าน! ออกแบบห้องครัวอย่างไรให้ตอบโจทย์การใช้งาน

4 แนวทางสร้างบ้าน! ออกแบบห้องครัวอย่างไรให้ตอบโจทย์การใช้งาน

26 ต.ค. 2564   ผู้เข้าชม 463

การสร้างบ้านและการกำหนดพื้นที่ใช้สอยห้องต่าง ๆ ภายในบ้านปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการหรือไลฟ์สไตล์ของผู้อาศัยมากขึ้น ซึ่งห้องครัวก็เป็นอีกหนึ่งห้องที่สามารถออกแบบให้ตอบโจทย์การใช้งานได้มากกว่าการเป็นเพียงพื้นที่สำหรับทำอาหารเพียงอย่างเดียว นิยามของห้องครัวสำหรับใครหลายคนได้เปลี่ยนไปกลายเป็นจุดศูนย์รวมที่ทุกคนภายในบ้านสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้ เป็นพื้นที่สำหรับพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง

การจัดวางตำแหน่งของห้องครัว การวางผังครัว จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เจ้าของบ้านต้องคิดและวางแผนการออกแบบให้ดี ปัญญาฤทธิ์โฮมจึงอยากแนะนำแนวทางการออกแบบห้องครัว นั้นต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง รวมถึงทริคง่าย ๆ ในการเลือกเคาน์เตอร์ครัวและโต๊ะอาหารให้เหมาะสมกับสรีระผู้ใช้งานมาฝากกัน 

จัดวางตำแหน่งห้องครัวตามหลักฮวงจุ้ย

โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่นิยมกำหนดพื้นที่ใช้สอยส่วนห้องครัวหรือวางตำแหน่งของห้องครัวไว้ในพื้นที่บริเวณด้านหลังสุดของบ้าน ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่ถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ย เพราะห้องครัวเปรียบเสมือนแหล่งเก็บขุมทรัพย์ภายในบ้าน ดังนั้นจึงไม่ควรอยู่ในจุดที่คนภายนอกมองเห็นได้ง่าย เป็นการกักเก็บเงินทองและความอุดมสมบูรณ์ไม่ให้รั่วไหลไปไหน  แต่บางบ้านที่ต้องการใช้พื้นที่ครัวเพิ่มมากขึ้นจึงต่อเติมครัวนอกบ้านออกมาทางด้านข้างเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในบริเวณพื้นที่หลังบ้าน  อย่างไรก็ตามห้องครัวที่ดีควรดูทิศทางของแดดและลมด้วยเพื่อให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก รวมถึงมีแสงแดดส่องถึง เพราะส่งผลในเรื่องของความสะอาดและสุขอนามัยที่ดี

กำหนดขนาดห้องครัวจากไลฟ์สไตล์ผู้อยู่อาศัย

ขนาดของห้องครัวจะเล็กจะใหญ่หรือแค่ไหนจึงจะเป็นขนาดของห้องครัวที่เหมาะสมกับความต้องการในการใช้งานของแต่ละบ้าน การสำรวจดูจำนวนสมาชิก รวมถึงไลฟ์สไตล์ของสมาชิกภายในบ้านเป็นอย่างไร เป็นจุดเริ่มต้นในการออกแบบและกำหนดขนาดพื้นที่ใช้สอยของห้องครัวได้ดีที่สุด อย่างเช่นครอบครัวใหญ่ที่ต้องทำอาหารอยู่เป็นประจำ ต้องจัดสรรพื้นที่ของห้องครัวให้มีขนาดใหญ่เพียงพอกับการจัดเก็บวัตถุดิบ อุปกรณ์ทำครัว หรือพื้นที่สำหรับจัดเตรียมและประกอบอาหารที่กว้างขึ้น ในขณะที่ครอบครัวที่มีสมาชิกภายในบ้านน้อยหรือทำอาหารไม่บ่อยนัก ก็อาจจะลดขนาดพื้นที่สำหรับห้องครัวลงมาหรืออาจจะรวมห้องครัวไว้กับพื้นที่ส่วนกลางของบ้าน โดยแบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนด้วยเคาน์เตอร์บาร์ โต๊ะอาหาร หรือฉากกั้นห้องไม้ระแนง เป็นการตกแต่งภายในตัวและเพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยในส่วนอื่น ๆ ให้มากขึ้น

จัดทิศทางการใช้งานในห้องครัวตามแบบวงจร 3 เหลี่ยม

การวางผังครัวควรนึกถึงฟังก์ชั่นการใช้งานเป็นหลัก โดยแบ่งออกเป็น 3 โซน เริ่มจาก

โซนที่ 1 พื้นที่สำหรับเก็บวัตถุดิบสดและแห้ง

โซนที่ 2 พื้นที่สำหรับล้างและทำความสะอาด

โซนที่ 3 พื้นสำหรับเตรียมและทำอาหาร

การจัดโซนที่แบ่งตามฟังก์ชั่นการใช้งานนั้นจำเป็นต้องดูการจัดวางให้เหมาะสมกับขนาดพื้นที่ของห้องครัว เช่น

ห้องครัวขนาดเล็ก ที่มีพื้นที่จำกัดขนาด 3 - 5 ตารางเมตร เหมาะสำหรับผังครัวรูปตัว I เคาน์เตอร์ครัวจะเรียงลำดับโซนการใช้งานจากซ้ายไปขวา โดยเริ่มจากพื้นที่ส่วนเก็บวัตถุดิบ ส่วนล้าง และส่วนสำหรับเตรียม หรือทำอาหารตามลำดับ และยังสามารถติดเคาน์เตอร์แบบลอยหากต้องการเพิ่มพื้นที่สำหรับการจัดเก็บได้อีกด้วย

ห้องครัวขนาดกลาง ที่มีพื้นที่ขนาด 6 ตารางเมตรขึ้นไป เหมาะสำหรับผังครัวรูปตัว L ซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมเป็นอย่างมาก เพราะสามารถจัดเคาน์เตอร์ครัวให้อยู่ในมุมใดมุมหนึ่งของห้องเพื่อให้เหมาะกับพื้นที่เข้ามุมของห้องครัวแต่ละแบบ และยังเหลือพื้นที่สำหรับวางโต๊ะอาหารได้อีกด้วย ในส่วนพื้นที่ของเตาควรวางให้ชิดฝั่งกำแพง หรือจุดที่อยู่ใกล้หน้าต่างเพื่อระบายกลิ่นและควันออกสู่ตัวบ้านได้ง่าย 

ห้องครัวขนาดใหญ่  ที่มีพื้นที่ขนาด 9 ตารางเมตรขึ้นไป สามารถวางผังครัวได้หลายรูปแบบ แต่แบบที่นิยมกันมากจะมีอยู่ 2 แบบ คือแบบ ตัว U และแบบ Island โดยแบบตัว U จะจัดแบ่งเคาน์เตอร์ครัวโซนต่าง ๆ ไปตามแนวผนัง 3 ด้าน โดยเว้นพื้นที่ตรงกลางไว้สำหรับเป็นช่องทางเดิน หรือการเพิ่มพื้นที่การใช้งานโดยการก่อเกาะกลางเป็นเคาน์เตอร์ครัวในแบบ Island โดยพื้นที่ตรงนี้สามารถเป็นได้ทั้งพื้นที่สำหรับจัดเตรียมอาหาร ทำอาหาร หรือทำความสะอาดก็ได้

ทริคการเลือกเฟอร์นิเจอร์สำหรับห้องครัวให้พอดีกับสรีระ!

เคยสงสัยไหมว่าแล้วเคาน์เตอร์ครัว ตู้เก็บของ โต๊ะอาหาร ควรสูงเท่าไหร่ถึงจะพอดี ไม่สูง และไม่ต่ำจนเกินไป วันนี้ปัญญาฤทธิ์โฮม มีเคล็ดลับดี ๆ ในการเลือกเฟอร์นิเจอร์ในห้องครัวมาฝากกัน เริ่มจาก

เคาน์เตอร์ครัว ทริคง่าย ๆ ในการเลือกเคาน์เตอร์ครัวที่ต้องยืนในขณะใช้งานก็คือ ส่วนสูงของผู้ใช้ ÷ 2 + 5 ตัวอย่าง เช่น 165 ÷ 2 + 5 = 85 ดังนั้นเคาน์เตอร์ครัวควรสูงอยู่ที่ 85 เซนติเมตรถึงจะพอดีกับผู้ใช้งานที่มีส่วนสูง 165 เซนติเมตร หรือกะระดับเคาน์เตอร์ครัวโดยประมาณได้จากการยกศอกและแขนในระดับใช้งานว่าไม่สูง หรือต่ำจนเกินไป เพราะหากระดับไม่พอดี อาจทำให้ปวดหลังได้หากต้องยืนทำครัวเป็นระยะเวลานาน ๆ

ตู้เก็บของเหนือศีรษะหรือตู้สูง ควรอยู่ในระดับที่พอดีกับมือจับตู้ และสามารถเอื้อมหยิบสิ่งของได้โดยไม่ต้องเขย่งหรือยืดจนสุดแขนเพื่อหยิบของ

โต๊ะอาหาร แนะนำให้วัดในขณะที่นั่ง โดยความสูงของโต๊ะที่วัดได้จากพื้นควรอยู่ที่ 70 – 90 เซนติเมตร  ให้สังเกตว่าเมื่อนั่งลงแล้ว ไหล่จะไม่ยกขึ้นตลอดเวลา สามารถผ่อนไหล่ได้อย่างสบาย เท้าวางราบกับพื้นได้ทั้ง 2 ข้าง ข้อศอกต้องงอเป็นมุมฉาก และการเลือกขนาดของโต๊ะก็ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ใช้งาน ซึ่งมีตั้งแต่ 2 - 8 ที่นั่งขึ้นไป

พอจะเห็นภาพกันแล้วใชไหมครับว่า การออกแบบห้องครัวภายในบ้านอาจไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพียงคุณสำรวจความต้องการที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของตนเองให้มากพอ เพียงเท่านี้คุณก็จะได้ห้องครัวที่เหมาะกับการใช้งาน แถมงบประมาณไม่บานปลายอีกด้วย ปัญญาฤทธิ์โฮม บริษัทรับสร้างบ้าน พร้อมให้คำปรึกษาบริการงานออกแบบทั้งภายในและภายนอกพร้อมเนรมิตบ้านที่ใช่ในสไตล์คุณ มีเขตพื้นที่บริการใน 5 จังหวัดทั้ง เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง และ พะเยา


สาระน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

รู้ก่อนสร้างบ้าน! “ทิศทางลมและแสงแดด” มีความสำคัญอย่างไร ?
01 ส.ค. 2564

รู้ก่อนสร้างบ้าน! “ทิศทางลมและแสงแดด” มีความสำคัญอย่างไร ?

รอบรู้เรื่องบ้าน
7 เทคนิค ออกแบบห้องครัว สุดหรู ตอบโจทย์ฟังก์ชันการใช้งานในสไตล์คุณ
22 ส.ค. 2565

7 เทคนิค ออกแบบห้องครัว สุดหรู ตอบโจทย์ฟังก์ชันการใช้งานในสไตล์คุณ

รอบรู้เรื่องบ้าน
 ทำไมต้องจ้างบริษัทตรวจรับบ้าน ? ปัญญาฤทธิ์โฮมมีคำตอบ
09 ก.ย. 2564

ทำไมต้องจ้างบริษัทตรวจรับบ้าน ? ปัญญาฤทธิ์โฮมมีคำตอบ

รอบรู้เรื่องบ้าน