สร้าง รั้วบ้าน อย่างไร ให้ถูกกฎหมายและไม่โดนเพื่อนบ้านร้องเรียน

สร้าง รั้วบ้าน อย่างไร ให้ถูกกฎหมายและไม่โดนเพื่อนบ้านร้องเรียน

12 ก.ย. 2565   ผู้เข้าชม 4,055

การสร้างรั้วบ้าน อาจเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่หลายคนมองข้าม แต่จริง ๆ แล้วการทำรั้วบ้านนั้นมีกฎหมายที่ผู้สร้างบ้านควรรู้ไว้ เพราะปัญหาหลัก ๆ ที่ผู้สร้างบ้านมักจะพบเจอคือ การสร้างล้ำเขตที่ดินและสร้างรั้วสูงเกินไป ดังนั้นเรื่องของรั้วบ้านจึงถือเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ และเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อยู่อาศัยและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในบทความนี้ ปัญญาฤทธิ์โฮม บริษัทรับสร้างบ้าน เชียงใหม่ จะพาไปดูการสร้างรั้วบ้านให้ถูกกฎหมายและไม่โดนเพื่อนบ้านร้องเรียนกัน

ชวนดู! ประเภทรั้วบ้านที่นิยมสร้าง

รั้วบ้านเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญในการสร้างบ้านเพื่อกำหนดอาณาเขต ป้องกันอันตราย และตกแต่งเพื่อความสวยงาม ซึ่งหากพูดถึงประเภทรั้วบ้านที่นิยมสร้างจะพบว่าในปัจจุบันมีการทำรั้วหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้เข้ากับสไตล์ต่างๆของบ้าน ซึ่งจะมีทั้งแบบรั้วโปร่ง เพื่อทำให้บ้านดูโล่ง กว้าง ไม่รู้สึกอึดอัด รั้วทึบ ที่ให้ความเป็นส่วนตัวแก่ผู้อยู่อาศัย หรือทำเป็นกำแพงกั้นระหว่างที่ดิน ซึ่งการทำรั้วนั้น เรื่องของรูปทรงรั้ว ลวดลาย ความหนาของรั้วหรือกำแพง ไม่ได้มีกฎหมายที่บังคับตายตัว ดังนั้นจึงสามารถปรับลักษณะต่างๆได้ตามความต้องการและความชอบของผู้อยู่อาศัย

การสร้างรั้วบ้านต้องขออนุญาตอะไรบ้าง?

ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4 (2) เขื่อน สะพาน อุโมงค์ ทางหรือท่อระบายน้ำ อู่เรือ คานเรือ ท่าน้ำ ท่าจอดเรือ รั้ว กำแพง หรือประตู ที่สร้างขึ้นติดต่อหรือใกล้เคียงกับที่สาธารณะหรือสิ่งที่สร้างขึ้นให้บุคคลทั่วไปใช้สอย กำหนดให้ ต้องขออนุญาตก่อสร้างอาคาร และกำหนดลักษณะของอาคารต่าง ๆ ไว้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะใช้สำหรับกรณีที่มีการก่อสร้างรั้ว หรือกำแพงที่ติดอยู่กับที่สาธารณะ หรืออาคารที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้สอยเท่านั้น

ขณะที่ การสร้างรั้วกั้นระหว่างที่ดินเอกชนด้วยกัน จะไม่ถือว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างประเภท "อาคาร" ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า "ไม่ต้องขออนุญาต"

อย่างไรก็ตาม สำหรับกฎกระทรวงได้มีการกำหนดสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นเป็นอาคารตามกฎหมาย พ.ศ. 2544 ข้อ 1 กำหนดไว้ดังนี้

ข้อ 1 ให้สิ่งที่สร้างขึ้นดังต่อไปนี้ เป็นอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

(1) ถังเก็บของที่มีความจุตั้งแต่ 100 ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป

(2) สระว่ายน้ำภายนอกอาคารที่มีความจุตั้งแต่ 100 ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป

(3) กำแพงกันดินหรือกำแพงกั้นน้ำที่ต้องรับความดันของดินหรือน้ำที่มีความสูงตั้งแต่ 1.50 เมตรขึ้นไป

(4) โครงสร้างสำหรับใช้ในการรับส่งวิทยุหรือโทรทัศน์ที่มีความสูงจากระดับฐานของโครงสร้างนั้นตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป และมีน้ำหนักรวมตั้งแต่ 40 กิโลกรัมขึ้นไป

(5) สิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นนอกจาก (1) (2) (3) และ (4) ที่มีความสูงจากระดับฐานตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป

นั่นหมายความว่า การสร้างรั้วกั้นที่มีความสูงเกิน 10 เมตรขึ้นไป ที่เชื่อมต่อระหว่างที่ดินเอกชน และพื้นที่สาธารณะ จะถือว่าเข้าข่ายเป็น “อาคาร” ที่ต้องขออนุญาตในการก่อสร้าง ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

ซึ่งหากรั้วบ้านเข้าข่ายอาคารตามพระราชบัญญัติฯ  จำเป็นที่จะต้องยื่นขออนุญาตในการก่อสร้าง โดยเตรียมเอกสารดังต่อไปนี้

  1. แบบฟอร์มขออนุญาต
  2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้อนุญาตและเจ้าของที่ดิน อย่างละ 1 ชุด
  3. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ขออนุญาตและเจ้าของที่ดิน อย่างละ 1 ชุด
  4. แบบก่อสร้างแผนผังและรายการประกอบแบบ อย่างละ 5 ชุด
  5. สำเนาโฉนดที่ดินที่จะทำการก่อสร้าง จำนวน 1 ชุด (หรือเอกสารสิทธิ์อื่น ๆ)
  6. สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท วัตถุประสงค์ ผู้มีอำนาจลงชื่อแทน นิติบุคคล ที่ขออนุญาตที่ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน

ที่มา: http://www.dongkon.go.th/upload/plan/29051703528.pdf


การกำหนดระยะรั้วบ้านที่สามารถก่อสร้างได้

แม้กฎหมายจะไม่ได้กำหนดรูปแบบของการทำรั้ว แต่ก็มีการกำหนดระยะรั้วบ้านที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ล้ำเขตแนวที่ดิน ทั้งยังเป็นการป้องกันการฟ้องร้องจากเพื่อนบ้าน โดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) กำหนดว่า

ข้อ 5 รั้วหรือกําแพงกันเขตที่อยู่มุมถนนสาธารณะที่มีความกว้างตังแต่ 3 เมตรขึ้นไป และมีมุมหักน้อยกว่า 135 องศา ต้องปาดมุมรั้วหรือกําแพงกันเขตนั้น โดยให้ส่วนที่ปาดมุมมีระยะไม่น้อยกว่า 4 เมตร และทํามุมกับแนวถนนสาธารณะ เป็นมุมเท่า ๆ กัน

ข้อ 42 กำหนดว่าการสร้างรั้วไม่ต้องร่นแนวอาคารจากที่สาธารณะอย่างอาคารอื่น ๆ

ข้อ 47 กำหนดว่ารั้วหรือกําแพงที่สร้างขึ้นติดต่อหรือห่างจากถนนสาธารณะน้อยกว่าความสูงของรั้ว ให้ก่อสร้างได้สูงไม่เกิน 3 เมตร เหนือระดับทางเท้าหรือถนนสาธารณะ

ส่วนของกรุงเทพมหานครมีข้อบัญญัติเพิ่มเติมขึ้นมา เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 โดยมีข้อกำหนดว่า

ข้อ 50 อาคารที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงใกล้ถนนสาธารณะที่มีความกว้างน้อยกว่า 6 เมตร ให้ร่นแนวอาคารห่างจากกึ่งกลางถนนสาธารณะอย่างน้อย 3 เมตร มิให้มีส่วนของอาคารล้ำเข้ามาในแนวร่นดังกล่าว ยกเว้นรั้วหรือกำแพงกั้นแนวเขตที่สูงไม่เกิน 2 เมตร

สรุปคือ การสร้างรั้วในกรุงเทพมหานครที่ติดเขตที่ดินข้างเคียงหรือถนนสาธารณะโดยไม่มีระยะร่น สามารถสร้างได้และต้องมีความสูงไม่เกิน 2 เมตร

รู้อย่างนี้ก่อนจะสร้างบ้านอย่าลืมดูกฎการทำรั้วบ้านเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต หรือท่านใดที่ยังมีข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับการสร้างบ้านหรือการทำรั้วบ้าน สามารถมาปรึกษาเรา ปัญญาฤทธิ์โฮม บริษัทรับสร้างบ้าน เชียงใหม่ โดยมาพร้อมทีมงานมากประสบการณ์ที่พร้อมให้คำแนะนำในเรื่องการสร้างบ้านอย่างครบวงจร ตั้งแต่ออกแบบ เขียนแบบ สร้างบ้าน และบริการตรวจรับบ้าน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อเราได้เลย 


สาระน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

ตรวจรับบ้านก่อนโอน ป้องกันงบประมาณบานปลาย ได้จริงหรือ ?
26 พ.ค. 2565

ตรวจรับบ้านก่อนโอน ป้องกันงบประมาณบานปลาย ได้จริงหรือ ?

รอบรู้เรื่องบ้าน
เลือก "พื้นกระเบื้อง" อย่างไรให้เหมาะกับบ้าน ปัญญาฤทธิ์โฮมช่วยคุณได้
24 พ.ย. 2564

เลือก "พื้นกระเบื้อง" อย่างไรให้เหมาะกับบ้าน ปัญญาฤทธิ์โฮมช่วยคุณได้

รอบรู้เรื่องบ้าน
อิฐมวลเบา อิฐบล็อก อิฐมอญ เลือกสร้างบ้านด้วยอิฐแบบไหนดี ?
24 ก.ค. 2565

อิฐมวลเบา อิฐบล็อก อิฐมอญ เลือกสร้างบ้านด้วยอิฐแบบไหนดี ?

รอบรู้เรื่องบ้าน